ยุคนี้เป็นยุคที่คนเข้าถึงสินค้าได้ง่ายมาก การที่จะมีชุดหมามาขายไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แม้ไม่มีทุนก็สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการพรีออเดอร์ ดังเช่นบทความนี้ How To ขายเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง รับมาขายไปแบบละเอียดยิบ ทำตามได้เลย (1) ที่เราเคยเขียนแนะนำเอาไว้
มีวิธีใดบ้างที่เราจะขายเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงได้ ไม่ว่าจะมีทุน หรือไม่มีทุนก็ตาม
1. ขายเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง แบบ Pre Order
2. รับเสื้อผ้าจากร้านขายส่งมาขาย
แต่ทั้ง 3 วิธีนี้ใช่ว่าจะเหมาะกับทุกคน แล้ววิธีไหนจะเหมาะกับใครบ้าง เราจะรู้ได้ยังไงว่าใน 3 ข้อนี้ แบบไหนมันจะ Work กับเรา ลองมาดูกันทีละข้อนะคะ ว่ามีข้อดี ข้อเสียยังไง และเหมาะกับใคร
1.ขายเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงแบบ Pre Order
เหมาะกับใคร : คนที่ไม่มีทุน ไปจนถึงคนที่ทุนน้อยประมาณ 500-1,000 บาท ขึ้นไป
วิธีการขาย : ไม่ต้องสต๊อกสินค้า เพียงแค่ศึกษาเว็บจีน เช่น 1688.com, Taobao.com, Tmall.comAlibaba.com แล้วก๊อปปี้รูปสินค้ามาขายในช่องทางต่างๆ ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ เพจขายของ หรือแม้แต่เฟซบุ๊คส่วนตัว (ถ้าใครมีทุนจะสต๊อกของก็จะดีมาก)
ข้อดี :คุณสามารถคัดสรรสินค้าสวยๆ (ถาพถ่ายเขาสวยมาก กินขาด) ดีไซน์เสื้อผ้าหมาแมวแปลกๆ เข้ามาขายได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสักบาท
ข้อเสีย : เพราะความที่เริ่มต้นง่าย แบบไม่ต้องลงทุนนี่แหละ จึงทำให้มีคู่เเข่งเยอะมาก แต่ละร้านต่างก็ไม่สต๊อกของ จึงเน้นจูงใจสินค้าด้วยการตั้งสินค้าให้ราคาถูกเข้าไว้ บางเจ้าได้กำไรต่อชิ้น 20 บาทก็ยอม เมื่อเกิดการเเข่งขันด้านการตัดราคามากๆ การเเข่งขันสูง จึงเสี่ยงต่อการขาดทุน เพราะการขายสินค้า Pre Order แท้จริงแล้วต้นทุนไม่ได้อยู่ที่ราคาสินค้า แต่อยู่ที่ค่าขนส่งจากจีนมาไทยต่างหาก และยังไม่รวมค่าขนส่งภายในประเทศอีกด้วย (นี่ยังไม่รวมปัญหาจีนส่งของไม่ครบ ส่งของเลทอีกด้วย)
แนวทางในการแก้ไขปัญหา :
1. ต้องท่องเว็บจีนเก่ง หาของเก่ง จะทำให้เราได้สินค้าที่ไม่เหมือนคนอื่น (แรกๆ อาจจะไม่คล่อง แต่ลองได้ทำสักล๊อตหนึ่ง รับรองคล่องแน่นอน)
2. ต้องขยันลงสินค้า เพิ่มจำนวน SKU สินค้าให้หลากหลาย ด้วยความที่เราไม่ได้สต๊อกของ ก็ต้องมีของ มีรูปมาให้เลือกเยอะๆ ดึงให้ลูกค้าเพลิดเพลิน ให้อยู่ที่หน้าเว็บหรือหน้าเพจของเรานานๆ ให้ได้ งานนี้ไม่ลงทุนสต๊อกก็ต้องขยันค่ะ ไม่มีใครลงรูปสินค้า 1-5 รูปแล้วขายดีดั่งใจนึกหรอก
3. ถ้าไม่ขยันหาสินค้า ไม่ขยันลงรูป ก็ต้องเก็งการทำกำไรจากสินค้าเพียงตัวใดตัวหนึ่งเก่ง ซึ่งสินค้าตัวนั้นจะต้องเป็นของที่มีความจำเป็น ไม่ได้แฟชั่นแบบเสื้อผ้าทั่วไป
4. เสนอรูปแบบริการที่แตกต่าง เช่น คนอื่นลงขายปลีก แต่เราอาจจะทำเรทขายส่งแทน หรือไม่ก็เป็นร้านบุฟเฟต์ จัดหมวดหมู่เซ็ทสินค้าเป็นกลุ่ม 399 สั่งได้ 5 ตัว 499 สั่งได้ 8 ตัว อะไรแบบนี้เป็นต้น ต้องครีเอท อย่าสู้กับคนอื่นแค่ราคาอย่างเดียว
2. รับเสื้อผ้าจากร้านขายส่งมาขาย
เหมาะกับใคร : คนที่พอมีเงินทุนบ้าง ประมาณ 1,500-3,000 บาท ขึ้นไป
วิธีการขาย : ไปสั่งซื้อเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงราคาส่ง เพื่อมาขายทำกำไรในราคาปลีก
ข้อดี : แค่มีเงินก็ลงทุนได้เลย และหากบางเจ้าที่ขายส่งไม่ได้ตีแบรนด์ เราจะสามารถทำ Label แล้วตีแบรนด์ตัวเองลงไปได้ทันที และวิธีนี้มีข้อดีกว่าแบบพรีออเดอร์คือ ไม่ต้องรอนาน ลูกค้าสั่งแล้วก็จัดส่งได้เลย ถือว่าได้เปรียบกว่า
ข้อเสีย : เราไม่มีสินค้าที่แตกต่างจากคนอื่นมากนัก (เพราะคนขายปลีกเจ้าอื่น อาจจะรับชุดมาจากเจ้าเดียวกับเรา) เมื่อสินค้าขาดเอกลักษณ์ ก็ทำให้ร้านไม่โดดเด่นและอาจจะต้องวนมาสู้กับคนอื่นด้วยสงครามราคาอีกครั้ง ต่างอะไรจากการรบในสนามเดิม แค่เปลี่ยนจากมีดสั้นเป็นดาบยาว
แนวทางในการแก้ไขปัญหา :
1. หากเสื้อผ้าที่รับมาขายเหมือนคนอื่นๆ อาจจะมีการตกแต่ง หรือ DIY เพิ่มเล็กน้อยเพื่อให้เกิดความแตกต่าง เช่น รับเสื้อเปล่าน้องหมามาขาย ก็หาตัวรีดติดเสื้อน่ารักๆ มารีดติดลงไป ฯลฯ
2. ถ่ายทำภาพสินค้าให้สวยงาม ใส่ใจการนำเสนอมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าให้สินค้าดูแพงขึ้น ถือว่าเป็นการดึงดูดความสนใจบนหน้า Feed ของเฟซบุ๊ค หรืออินสตาแกรม อย่างน้อยๆ ก็ดีกว่าการเอามากองบนพื้นแล้วอัพขายเลย รูปสวยกว่า มันก็สะดุดตาคนได้มากกว่า
3. หาเจ้าที่ขายส่งมากกว่า 1 เจ้า เพื่อเป็นการกระจาย Supplier หากเจ้าใดเจ้าหนึ่งเกิดปัญหา เราก็ยังมีของมาขาย และการมีหลายเจ้าก็ทำให้สินค้าเราหลากหลายมากขึ้น (แน่นอนว่าต้องลงทุนสต๊อกมากขึ้น)
4. อาจจะทำระบบเมมเบอร์ ของมาใหม่ลูกค้าเมมเบอร์มีสิทธิ์สั่งก่อน เป็นการเพิ่มความรู้สึกพิเศษให้ลูกค้า ดึงดูดให้คนมาเป็นลูกค้าประจำ เป็นต้น (ก็คู่เเข่งรับจากเจ้าเดียวกันมาขายเยอะ เราต้องมีอะไรที่พิเศษกว่า)
3. ตัดขายเอง หรือทำแบรนด์ตัวเอง
เหมาะกับใคร : คนที่สนใจทักษะการตัดเย็บ หรือสามารถออกแบบงานที่แตกต่างได้ และเข้าใจผลดีระยะยาวของการทำแบรนด์เอง ที่อาจจะไปช้าแต่ว่ายั่งยืนกว่า เงินลงทุนควรมีตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป (นับรวมตั้งแต่จักรเย็บผ้า ไปตลอดจนวัสดุตัดเย็บ)
วิธีการขาย : หากทำคนเดียว ก็ต้องออกแบบชุด ขึ้นแพทเทิร์น และลงมือตัดเย็บเอง ควบตำแหน่งการตั้งราคาขาย แพ็คของส่ง ฯลฯ ด้วยตัวคนเดียวทุกอย่าง
หรือหากไม่มีเวลาทำคนเดียว ทำงานประจำ ทำคนเดียวไม่ไหว ก็สามารถออกแบบชุด ขึ้นแพทเทิร์น และส่งงานให้ช่างเย็บผ้าทำงานได้ ซึ่งไม่ว่าจะทำคนเดียว หรือหลายคน ก็ทำให้เรามีสต๊อกสินค้ามาขายเองในแบบที่แตกต่างไม่ซ้ำกับร้านอื่น
ข้อดี : สามารถออกแบบชุดเองได้ ทำให้มีสินค้าที่แตกต่างจากท้องตลาด (แน่นอนว่าการลงทุนจะสูงกว่า 2 ข้อที่ผ่านมา) รวมไปถึงสามารถควบคุมต้นทุนวัสดุในการผลิตได้ว่าจะใช้มากหรือน้อยเท่าไรดี และการทำแบรนด์เอง แม้ว่าจะเติบโตได้ช้า แต่ว่ายั่งยืนกว่าและสามารถต่อยอดสินค้าได้หลากหลาย เมื่อแบรนด์สินค้าติดตลาดแล้ว ต่อให้ตัดขายคนเดียว แต่ก็มีฐานลูกค้ารองรับทุกครั้งที่ออกสินค้าใหม่
ข้อเสีย : อาจจะท้อได้ง่ายเมื่อถูกก๊อปปี้แบบ แต่เราต้องลุกขึ้นมาสู้ใหม่ค่ะ การทำแบรนด์เองเป็นการแบกรับทุกอย่าง สร้างทุกอย่างให้เกิดขึ้น ไม่ต่างจากการเลี้ยงเด็กทารกคนหนึ่ง ที่เราต้องดูแล ประคับประคองให้เติบโต ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไรก็ตาม
แนวทางในการแก้ไขปัญหา :
1. ฝึกเป็นคนคิดบวก ไม่มองโลกในแง่ลบ เพราะในการทำธุรกิจ เมื่อเจอเรื่องกวนใจ เจอคนก๊อปปี้แบบ เราจะหัวเสียได้ง่าย ดังนั้นการประคองจิตใจจึงสำคัญมาก
2. ต้องไวต่อตลาด หมั่นเช็คแบบเสื้อผ้าและเทรนด์ฮิตบ่อยๆ เพื่อนำไปออกแบบชุดใหม่ๆ มาขาย ไม่ให้ลูกค้าจำเจ
3. ออกสินค้าใหม่อย่างสม่ำเสมอ นั่นหมายความว่าเราต้องเป็นคนที่มีวินัยในการทำงานสูงมากๆ การออกสินค้าใหม่อย่างสม่ำเสมอจะทำให้เกิดกลุ่มลูกค้าคอยติดตามอยู่ตลอด
4. สร้างวัฒนธรรมในการสั่งซื้อในกลุ่มลูกค้า เพราะสินค้าของเราผลิตตามรอบ ดังนั้นจึงควรทำให้ลูกค้าตื่นเต้นทุกครั้งที่มีสินค้าออกใหม่ และไม่รอช้าที่จะสั่งซื้อ
บทความนี้เป็นการแยกการขายเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงทั้ง 3 แบบ ออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำการพิจารณาและเปรียบเทียบด้วยตนเองว่า ตอนนี้เราเหมาะที่จะทำแบบไหน อย่ากังวลแต่ว่าไม่มีเงินทุน ไม่มีฐานลูกค้าแล้วจะทำขายไม่ได้ การขายเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงมีหนทางมากมายค่ะ เพียงแต่เราต้องรู้จัก เข้าใจเสียก่อนว่า วิธีไหนที่เราสามารถทำได้ในตอนนี้ และวิธีไหนที่เราจะค่อยๆ สะสมทุน และพัฒนาไปทำได้
เราอาจจะเริ่มจากเปิดขาย Pre Order แบบไม่มีทุน แล้วค่อยๆ ขยับมาเป็นทำแบรนด์ของตัวเองขายได้ แม้ว่าจะใช้เวลาสักหน่อย แต่ทำได้อย่างแน่นอนค่ะ
コメント